แนวคิดการบริหาร : Analytics : แนวโน้มใหม่ทางกลยุทธ์

คำถามหนึ่งที่ผมเจอบ่อยๆ หนีไม่พ้นคำถามเกี่ยวกับแนวคิดหรือแนวโน้มใหม่ทางด้านการบริหารจัดการต่างๆ โดยเฉพาะในด้าน
ที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ ซึ่งเมื่อพิจารณาแนวโน้มใหม่ๆ ทางด้านวิชาการและองค์กรธุรกิจต่างๆ แล้วจะพบว่าแนวโน้มสำคัญทาง
ด้านกลยุทธ์ที่น่าสนใจในปัจจุบัน จะหนีไม่พ้นความพยายามในการเสาะแสวงหาช่องทาง หรือ โอกาสในการเติบโตใหม่ๆ หรือ
การแสวงหารายได้ด้วยวิธีการใหม่ๆ แนวโน้มดังกล่าวอาจจะไม่ใช่แนวโน้มใหม่ แต่ดูเหมือนว่ากระแสต่างๆ ทางด้านกลยุทธ์จะ
ไปในทางนี้หมด ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนะครับ เนื่องจากว่าปัญหาสำคัญที่องค์กรส่วนใหญ่เริ่มเผชิญกับทางตันทางกลยุทธ์


คำว่าทางตันทางกลยุทธ์นั้น ผมหมายถึงทางตันในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่การได้เปรียบทางการแข่งขัน หรือ นำไปสู่การเพิ่ม
กำไรและรายได้ ทั้งนี้เนื่องในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมากลยุทธ์ขององค์กรต่างๆ มักจะออกมาเหมือนๆ กันหมด ถ้าองค์กรแห่งหนึ่งใช้กลยุทธ์
หนึ่งแล้วประสบความสำเร็จ องค์กรอื่นๆ ก็จะแห่ใช้กลยุทธ์เดียวกันหมด สุดท้ายองค์กรทั้งหมดก็จะประสบปัญหาเดียวกัน นั้นคือ ไม่มีความ
แตกต่างจากกัน ทั้งในแง่ของกลยุทธ์ ความสามารถในการแข่งขัน สินค้า หรือ บริการ ซึ่งทำให้ในปัจจุบันกระแสเรื่องของนวัตกรรมจึงเกิด
ขึ้นอย่างมาก

ทีนี้จากทางตันทางกลยุทธ์ที่เกิดขึ้น ก็เลยทำให้ทั้งนักวิชาการและผู้บริหารต่างพยายามดิ้นรนแสวงหาหนทางหรือแนวทางใหม่ๆ สำหรับ
กลยุทธ์ตนเอง ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าคำๆ หนึ่งที่กลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ในแวดวงด้านกลยุทธ์ก็จะเป็นคำว่า นวัตกรรมทางกลยุทธ์ (Strategic
Innovation) เนื่องจากผู้บริหารองค์กรต่างๆ ล้วนแล้วแต่ต้องการแสวงหานวัตกรรมใหม่ๆ ทางกลยุทธ์มากขึ้น ในปีที่แล้วก็มีหนังสือขายดีอยู่
เล่มหนึ่งชื่อ Ten Rules for Strategic Innovators หรือหนังสือที่โด่งดังมาตลอดสองสามปีที่ผ่านมาก็หนีไม่พ้น Blue Ocean Strategy ซึ่งเจ้า
Blue Ocean นั้นก็ถือเป็นกรอบแนวคิดหนึ่งที่ทำให้องค์กรสามารถมองมุมใหม่ๆ เพื่อคิดค้นนวัตกรรมทางด้านกลยุทธ์ให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากแนวคิดในเรื่องของนวัตกรรมทางกลยุทธ์ เพื่อสร้างสรรค์กลยุทธ์ใหม่ๆ แล้ว ในปัจจุบันได้เริ่มมีแนวคิดอีก
ประการหนึ่งที่พยายามจะแก้ไขปัญหาทางตันทางกลยุทธ์ โดยในแนวคิดนี้จะพยายามนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ในการวิเคราะห์ พยากรณ์ เพื่อ
ตัดสินใจให้สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้มากขึ้น หรือที่เขาเริ่มเรียกกันว่า Analytic Management ครับ

โดยภายใต้แนวคิดนี้เขามองคล้ายๆ กันครับว่าสินค้า บริการ และเทคโนโลยีขององค์กรต่างๆ นั้นมีความเหมือนกัน หาความแตกต่าง
ระหว่างกันไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะถามว่าอะไรคือจุดที่สร้างความแตกต่างให้กับองค์กรแต่ละแห่ง ก็ต้องตอบว่าเป็นตัวกระบวนการ หรือ Process
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไม่สามารถสร้างนวัตกรรมทางกลยุทธ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ องค์กรจะสร้างความแตกต่างขึ้นมาได้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการ
ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งการตัดสินใจที่ดีที่สุด

ซึ่งการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ตัวเลข นำสิ่งที่พบมาเข้าสู่โมเดล และนำไปสู่การพยากรณ์ทางธุรกิจ หรือ ที่เรียกรวมๆ ว่า Analytic นั้น
จะเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่จะช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินงานตามกระบวนการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และการตัดสินใจที่
ดีที่สุดได้ ช่วงนี้จะเริ่มมีหนังสือใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Analytics ออกมามากขึ้นครับ

เช่น Competing on Analytics ที่ผมเคยนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้มานำเสนอท่านผู้อ่านเมื่อไม่นานมานี้ (ไม่ทราบยังจำ
กรณีศึกษาของคาสิโน Harrah's ได้หรือไม่ครับ) หรือ ล่าสุดก็หนังสือชื่อ Beyond the Balanced Scorecard: Improving Business
Intelligences with Analytics ซึ่งยังไม่เห็นในเมืองไทยนะครับ

จริงๆ แล้วเรื่องของ Analytics ยังเป็นเรื่องที่ต่อยอดจาก Balanced Scorecard ด้วยเช่นเดียวกันครับ อีกคำถามที่ผมเจอบ่อยๆ ก็คือ
ต่อจาก Balanced Scorecard แล้วจะเป็นอะไร ซึ่งตอนนี้ก็ต้องตอบว่าเป็นเรื่องของ Analytics ครับ นั้นคือหลังจากที่องค์กรต่างๆ ได้เริ่ม
นำ BSC มาใช้แล้ว ก็จะทำให้องค์กรมีตัวชี้วัดและข้อมูลต่างๆ กันอยู่พอสมควร ซึ่งเมื่อระบบ BSC เข้าที่เข้าทางแล้ว ขั้นตอนต่อไปองค์กร
ก็ควรจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ โดยแทนที่จะใช้ข้อมูลเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการทบทวนผลการดำเนินงานเท่านั้น องค์กรยังควร
จะนำข้อมูลที่ได้ มาใช้ประโยชน์มากกว่าแค่การทบทวนและประเมินผลการดำเนินงาน

มีข้อแนะนำไว้ว่าเมื่อได้ข้อมูลจากตัวชี้วัดหรือข้อมูลต่างๆ แล้ว ผู้บริหารไม่ควรจะหยุดอยู่แค่นั้น แต่ควรจะเริ่มถามคำถามตนเอง ด้วย
คำถามต่างๆ เหล่านี้ตามลำดับขั้น

1. เกิดอะไรขึ้น (What happened)

2. เกิดขึ้นอย่างไร บ่อยเพียงใด ที่ไหน (How many, how often, where)

3. จริงๆ แล้วปัญหาอยู่ที่ไหน (Where exactly is the problem)

4. จะต้องดำเนินการอย่างไร (What actions are needed)

5. ทำไมปัญหานี้ถึงเกิด (Why is this happening)

6. อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าแนวโน้มนี้เป็นต่อไป (What if these trends continue)

7. จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป (What will happen next)

8. อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ (What's the best that can happen)

จริงๆ การตอบคำถามเบื้องต้นทั้งแปดข้อนี้ก็สำคัญนะครับ เนื่องจากหลายองค์กร จัดทำ BSC หรือระบบตัวชี้วัดไปแล้ว แต่เพียงแต่ขอ
ให้มีระบบเกิดขึ้น แต่ไม่สามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการวิเคราะห์และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการตัดสินใจแต่อย่างใด ดังนั้นท่านผู้อ่านอาจ
จะเริ่มต้นจากการนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ก่อนนะครับ

ขอย้อนกลับไปเรื่อง Analytics กับการผ่าทางตันทางกลยุทธ์ต่อนะครับ ในปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดในเชิงกลยุทธ์แล้วว่าถ้าองค์กรสามารถ
ปรับหรือนำแนวคิดเรื่องของ Analytics มาใช้ได้ก็จะทำให้ผู้บริหารขององค์กรสามารถทำการตัดสินใจในสภาวะแวดล้อมต่างๆ ได้อย่างดีที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสินค้า บริการ เทคโนโลยีระหว่างองค์กรกับคู่แข่งยากจะหาความแตกต่างระหว่างกันได้ การตัดสินใจที่ดีที่สุด จะสาเหตุ
สำคัญที่ทำให้องค์กรเกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือองค์กรอื่นก็ได้

และยิ่งแนวโน้มในปัจจุบันที่การตัดสินใจต่างๆ จะเริ่มหันจากการตัดสินใจโดยอาศัยสัญชาติญาณอย่างเดียว (Intuition-Based) มาเป็น
การตัดสินใจโดยอาศัยข้อเท็จจริง (Fact-Based) มากขึ้น ดังนั้นท่านผู้อ่านก็เริ่มพิจารณานะครับว่าจะนำเรื่องของ Analytics มาปรับใช้ใน
องค์กรท่านได้อย่างไร

ที่มา: http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9500000047875