การทำธุรกิจในกรอบของเศรษฐกิจพอเพียง

บ้านเขาเมืองเรา : ไสว บุญมา กรุงเทพธุรกิจวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

คอลัมน์นี้เคยพูดถึงกลไกตลาดเสรีว่ามีอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ เพราะมันสะท้อนธรรมชาติของเรา นั่นคือ เมื่อเรามีอะไรเหลือกินเหลือใช้ เรามักนำสิ่งเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรี พฤติกรรมเช่นนี้ไม่มีในสัตว์อื่น กลไกตลาดเสรีและแนวทางที่จะทำให้มันมีประสิทธิภาพสูง ได้รับการรวบรวมขึ้นพิมพ์ไว้อย่างเป็นระบบโดย อะดัม สมิท เมื่อปี 2319 แม้ระบบตลาดเสรีจะไม่ดีพร้อมครบถ้วนทุกอย่าง แต่มันมีข้อบกพร่องน้อยกว่าระบบอื่น เช่น ระบบคอมมิวนิสต์ มันจึงอยู่มาได้นานจนกลายเป็นแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักของโลก

ข้อบกพร่องของระบบตลาดเสรีที่จะนำสังคมไปสู่ความไม่ยั่งยืนได้แก่ การอาศัยการแสวงหากำไร และการบริโภคเป็นหัวจักรขับเคลื่อน การแสวงหากำไรซึ่งได้มาจากการทำธุรกิจ และการบริโภคต้องใช้ทรัพยากรซึ่งโลกมีอยู่เพียงจำกัด ในสมัยที่ อะดัม สมิท ศึกษาเกี่ยวกับตลาดเสรี โลกมีประชากรเพียง 800 ล้านคน และแต่ละคนบริโภคน้อยกว่าประชากรในยุคปัจจุบัน ฉะนั้นการที่โลกมีทรัพยากรเพียงจำกัด จึงยังไม่เป็นปัญหาหนักหนาสาหัสนัก

แต่ปัจจุบันนี้โลกมีประชากรกว่า 6 พันล้านคนและยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำร้ายทุกคนบริโภคมากกว่าคนในสมัยก่อน และยังต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นสุดโต่ง ในสภาพเช่นนี้ทรัพยากรที่โลกมีอยู่อย่างจำกัด ได้กลายเป็นปัญหาหนักหนาสาหัสซึ่งแสดงอาการออกมาแล้วหลายรูปแบบ เช่น อากาศและน้ำเป็นพิษ ภาวะน้ำท่วมฉับพลันและสงครามแย่งชิงน้ำกันในบางย่านของโลก

อย่างไรก็ตาม ทางแก้ไขใช่ว่าจะไม่มี เศรษฐกิจพอเพียงซึ่งวางอยู่บนฐานอันมั่นคงของระบบตลาดเสรีเป็นทางแก้ไขที่เหมาะสม เพราะมันมีแนวปฏิบัติที่จำกัดความสุดโต่ง

ดังที่อาจทราบกันดี เศรษฐกิจพอเพียงมีส่วนประกอบ 5 ด้านด้วยกันคือ ด้านคุณธรรม/จริยธรรม ด้านความรู้ ด้านการมีภูมิคุ้มกัน ด้านความมีเหตุผล และด้านการมีความพอประมาณ การนำมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจ เราอาจเริ่มด้วยการพิจารณาตามแนวนี้

"คุณธรรม/จริยธรรม" เป็นกฎเกณฑ์สำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่นอกเหนือตัวบทกฎหมาย ในแง่ที่มันอาจถูกละเมิดได้ โดยไม่มีความผิดชนิดต้องติดคุกหรือถูกปรับ แต่ก็ไม่ควรละเมิด ฉะนั้นการทำธุรกิจนอกจากจะต้องไม่ผิดกฎหมายแล้ว ยังจะต้องอยู่ในกรอบของคุณธรรม/จริยธรรมด้วย

ธุรกิจผิดกฎหมายมีมาก เช่น การขายยาเสพติดและการผลิตเพลง และภาพยนตร์ออกขาย โดยไม่ได้รับอนุญาต จากเจ้าของลิขสิทธิ์ วิธีทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายก็มีมากมายเช่นกัน อาทิเช่น การสอดก้อนตะกั่วเข้าไปในหัวกุ้ง การนำเนื้อปลาปักเป้ามาขายเป็นเนื้อไก่ การตกแต่งบัญชีให้ดูดีกว่าความเป็นจริง ฯลฯ

ส่วนวิธีทำธุรกิจที่ไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่ควรทำก็มีมากเช่นกัน อาทิเช่น การจัดกระจาดผลไม้ ซึ่งซ่อนผลไม้ใกล้เน่า ไว้ใต้ผลไม้ผลงามๆ การนำเอาเนื้อไก่เลี้ยงมาผสมเนื้อไก่พื้นบ้าน แล้วทำเป็นอาหารขายในนามของไก่ชน โรงพยาบาลกักคนไข้ไว้นานเกินความจำเป็น หรือเลี้ยงไข้ และการโฆษณาที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากลองสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า

"ความรู้" มีขอบเขตกว้างมาก เริ่มจากด้านเทคนิคของการผลิตสินค้าและบริการ ไปจนถึงด้านตลาด การเงิน การบริหารจัดการ คู่แข่ง ความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศและความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จอร์จ โซรอส ผู้มีสมญาว่าเป็นพ่อมดการเงินเล่าว่าในสมัยที่เขากำลังก่อร่างสร้างตัวเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เขาติดตามอ่านวารสารวิชาชีพต่างๆ ถึง 30 สายวิชาชีพและแต่ละวันเขาอ่านรายงานประจำปีของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกถึง 20-30 บริษัท ยุคนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การติดตามข่าวสารข้อมูลและการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลายิ่งมีความสำคัญต่อการทำธุรกิจ

"ความเสี่ยง" เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นที่จะต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างเพียงพอ แต่ธรรมชาติของความเสี่ยงและความสลับซับซ้อนของการบริหารจัดการความเสี่ยงของผู้ทำธุรกิจชนิดแบกะดิน กับของผู้บริหารบริษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ แตกต่างกันมากจนยากแก่การที่จะสรุปออกมาสั้นๆ ฉะนั้นผู้ทำธุรกิจจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้แตกฉานเช่นเดียวกับการศึกษาหาความรู้ด้านอื่นๆ และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกิจการของตน

"ความมีเหตุผล" มีความกระจ่างอย่างเพียงพออยู่ในตัวของมันเองแล้ว อย่างไรก็ตามตัวอย่างของการขาดเหตุผล ปรากฏให้เห็นเป็นประจำโดยเฉพาะจำพวกการเห็นคนอื่นทำก็ทำบ้าง เช่น การทำสวนผลไม้ซึ่งยังผลให้ผลิตออกมามากเกินไปจนทำให้ตลาดล่ม

"ความพอประมาณ" เป็นส่วนประกอบที่ตีความหมายยากและดูจะขัดกับการแสวงหากำไรสูงสุด อันเป็นจุดมุ่งหมายของการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตามความพอประมาณอาจดูได้จากพฤติกรรมในการใช้เงินกำไร ทั้งในระดับบริษัทและในระดับผู้รับเงินปันผล บางบริษัทกันกำไรส่วนหนึ่งไว้เพื่อช่วยเหลือชุมชุนที่ตนตั้งอยู่อย่างสม่ำเสมอ แทนที่จะใช้ให้หมดไปกับการจัดงานแบบฟุ้งเฟ้อเพื่อปรนเปรอผู้บริหาร

นักธุรกิจจำนวนมากบริโภคแต่พอประมาณแล้วกันรายได้ส่วนใหญ่ไว้ช่วยสังคม เช่น บิล เกตส์ วอร์เรน บัฟเฟตต์ และจอร์จ โซรอส ซึ่งเป็นอภิมหาเศรษฐีหมายเลข 1 หมายเลข 3 และหมายเลข 80 ของโลกตามการจัดอันดับล่าสุดของนิตยสารฟอร์บส์ เราอาจกล่าวว่าบริษัทและนักธุรกิจจำพวกนี้มีความพอประมาณเป็นที่ตั้ง อีกนัยหนึ่งเราอาจจัดบริษัทห้างร้าน ผู้ประกอบการและผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ว่าปฏิบัติอยู่ในกรอบของเศรษฐกิจพอเพียง หากพวกเขาไม่ใช้ทรัพยากรที่โลกมีอยู่อย่างจำกัด ให้หมดไปกับการบริโภคแบบสุดโต่งนั่นเอง


ที่มา : http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007may18p2.htm