เรื่องเล่าจากญี่ปุ่น

คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา โดย อภิชาต สถิตนิรามัย ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3896 (3096)

ผมมาอยู่เมืองชิบะ (Chiba) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหานครโตเกียวได้สิบกว่าวันแล้ว แต่แทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมหานครแห่งนี้เลย แม้กระทั่งสถานที่และสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ส่วนหนึ่งเพราะว่าตั้งแต่มาถึงก็เอาแต่หมกตัวตั้งแต่เช้ายันมืดอยู่ในห้องทำงาน ณ สถาบันวิจัยซึ่งใจดีให้ทุนผมมาทำวิจัยที่นี่ เรื่องเล่าของผมในวันนี้จะไม่มีสาระอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ขอเตือนให้ผู้อ่านมาถึงบรรทัดนี้และต้องการเรื่องราวที่มีสาระ เลิกอ่านได้เลยครับ

ผมจำไม่ได้แล้วว่าเคยอ่านเจอที่ไหนว่า คนเราทุกคนมีสายตาแบบนักมานุษวิทยาได้ หากไม่ถูกความเคยชินบดบังสายตาแบบนี้ไปเสียก่อน สิ่งแรกที่เห็นและกระตุกสายตาถึงความแตกต่าง ระหว่างที่นี่และเมืองไทยก็คือ บริการที่เห็นในสนามบินนาริตะ บริการที่ผมได้ใช้โดยตรงก็คือบริการต้อนรับที่ตัวสนามบิน สถาบันวิจัยเจ้าภาพของผม ถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างจากนาริตะไม่มากนักก็ตาม เลือกที่จะใช้บริการต้อนรับที่สนามบิน แทนที่จะส่งคนมารับผมโดยตรง บริการต้อนรับนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่า การที่ให้ชายคนหนึ่งไปยืนรอ โดยถือป้ายที่มีชื่อผมหน้าทางออก แบบเดียวกับที่เราเห็นโรงแรมในเมืองไทยทำกับนักท่องเที่ยวนั่นเอง เมื่อผมแสดงตัว ชายคนนั้นก็ซื้อตั๋วรถเมล์ พาผมไปที่คิวรถ และบอกว่า ต้องลงป้ายไหน เมื่อส่งผมขึ้นรถแล้วเขาก็หมดหน้าที่ ส่วนเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยก็มารับผมต่อ ณ ป้ายที่ผมลง

เป็นบริการที่ดูตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีไฮเทคใดๆ ระหว่างทางที่นั่งรถเข้าเมือง ผมก็ถามตัวเองว่า ทำไมบริการแบบนี้ยังไม่เกิดขึ้นในเมืองไทย สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาก่อนก็คือ ค่าจ้างแรงงานและค่ารถแท็กซี่ที่นี่แพงมาก มันไม่คุ้มเลยที่จะใช้เจ้าหน้าที่ของสถาบันไปรับผม จ้างคนอื่นดีกว่า นี่แสดงว่าองค์กรอื่นๆ ก็ใช้บริการต้อนรับแบบนี้เช่นกัน ไม่อย่างนั้นบริการนี้ก็จะอยู่ไม่ได้ ส่วนการที่จะให้นั่งแท็กซี่เข้ามาเองก็แพงเกินไป ข้อสองที่ทำให้บริการนี้ work ก็คือความตรงเวลาของตารางเดินรถ หากเจอรถติดแบบกรุงเทพฯเข้าแล้ว เจ้าหน้าที่ของสถาบันที่มารับผมคงแย่ไปเลย ความตรงเวลานี้ส่วนหนึ่งย่อมขึ้นกับสภาพการจราจร ซึ่งหมายถึงคุณภาพโดยรวมของโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมด้วย

แต่ประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องความวางใจในความปลอดภัยของลูกค้า ทางสถาบันวิจัย คงจะไม่ยอมใช้บริการต้อนรับนี้แน่นอน หากไม่วางใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าผมจะมาถึงจุดหมายโดยปลอดภัย ซึ่งต่างจากสนามบินเมืองไทยที่เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นแหล่งหาประโยชน์จากความไม่รู้ของคนที่เพิ่งเดินทางมาถึง ความวางใจนี้โดยรวมแล้วก็สะท้อนถึงสภาพสังคมญี่ปุ่นที่ปัญหาอาชญากรรมต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศระดับเดียวกันในตะวันตก อีกตัวอย่างหนึ่งของความวางใจได้ หรือไม่โกง ก็คือ การทอนเงิน เนื่องจากเรายังไม่ค่อยคุ้นเคยกับเงินตรา ดังนั้นผู้เดินทางจึงมักถูกทอนเงินให้ผิดโดยตั้งใจ โดยเฉพาะย่านท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเจอเกือบทันทีที่ไปถึงลอนดอน หรือมิลาน แต่ยังไม่เจอที่นี่เลย

เป็นที่รู้กันดีว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นคนรักษาสัญญา พูดอีกแบบก็คือวางใจได้นั่นเอง ความวางใจในภาษาของนักวิชาการก็คือ สิ่งที่เรียกว่า "ทุนทางสังคม" (social capital) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า ระดับความมีอยู่ของทุนนี้ในสังคมหนึ่งนั้น มีผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพ ของระบบเศรษฐกิจ การไม่โกงและการรักษาสัญญา ย่อมทำให้สังคมประหยัดค่าโสหุ้ย (transaction costs) ในการทำธุรกิจไปได้มาก เช่น เมื่อคู่สัญญาไม่ผิดคำพูดซึ่งกันและกันแล้ว คู่สัญญาย่อมไม่ต้องฟ้องร้องกัน ทำให้ประหยัดค่าทนายและเวลาไปได้ ความเชื่อใจยังทำให้เราไม่ต้องเสียเวลามาก ในการหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นต้นทุนค่าโสหุ้ยในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน คำถามที่น่าสนใจคือทำไมญี่ปุ่น จึงมีทุนทางสังคมในระดับสูง ความรู้งูๆ ปลาๆ เท่าที่ผมเคยอ่านเจอตอบว่า เพราะความหนาแน่นของประชากรสูง และขาดแคลนทรัพยากรมานานแล้ว ทำให้สังคมต้องพัฒนากลไกที่สร้างความร่วมมือซึ่งกันและกันขึ้นในหมู่ประชากร เพราะความร่วมมือ หรือการกระทำรวมหมู่ (collective action) ในระดับสูงเท่านั้นที่จะเป็นทางรอดของสังคม ที่ขาดแคลนทรัพยากร

ความหนาแน่นของประชากรนำผมมาสู่เรื่องเล่าที่สอง ผมเข้าไปเดินเล่นย่านชินจูกุ ใจกลางเมืองโตเกียวในวันเสาร์ ขอสารภาพว่า ไม่เคยเจอฝูงชนพร้อมๆ กันมากขนาดนี้มาก่อนในชีวิต ย่านโซโหใจกลางเมืองลอนดอน ซึ่งผมว่าหนาแน่นแล้ว ชิดซ้ายไปเลย นักท่องเที่ยวฝรั่งต่างพากันพร้อมใจถ่ายรูปฝูงชนที่รอข้ามทางม้าลายโดยไม่ต้องนัดหมาย การนั่งรถไฟซึ่งเป็นวิถีชีวิตของที่นี่นั้น ทำให้รถแน่นตลอด ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหน ระบบรางสำหรับขนส่งมวลชน ของมหานครแห่งนี้ใหญ่โต และซับซ้อนมาก (อีกเช่นกัน ระบบรางของลอนดอนนั้นทั้งเล็กกว่า สกปรกกว่า แพงกว่าและช้ากว่า ส่วนชุมชนก็ตั้งรายล้อมสถานีรถไฟ บ้านจะยิ่งแพงหากอยู่ใกล้สถานี) ส่วนบ้านคนญี่ปุ่นนั้นมีพื้นที่เล็ก และค่าเช่าบ้านก็แพงเอามากๆ ความหนาแน่นของประชากรในระดับนี้ทำให้ผมคิดถึงเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ส่วนตัว กับพื้นที่สาธารณะของสังคมนี้ สำหรับสังคมที่หนาแน่นเช่นนี้ คำถามสำคัญคงเป็นเรื่องพื้นที่ส่วนตัว เราจะทำอย่างไรให้มีช่องว่างส่วนบุคคล

ภายใต้บริบทข้างต้น ผมไม่แปลกใจเลยที่เครื่องเสียงส่วนตัว "walkman" ถูกคิดค้นขึ้นโดยคนญี่ปุ่นในราวทศวรรษที่ 1970 และถูก vote ให้เป็นนวัตกรรมที่ดีที่สุดตลอดกาล รองจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป walkman โทรศัพท์มือถือที่นอกจากใช้สื่อสารแล้ว ยังใช้เล่นเกมได้ ipod MP3 laptop กลายเป็นอุปกรณ์ที่คนญี่ปุ่นใช้ในการจัดการระหว่างพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัว เช่นเดียวกับเครื่องมือโบราณแบบหนังสือ ดังเช่นที่สถาปนิกฝรั่งคนหนึ่งเขียนไว้เมื่อ 10 ปีก่อนว่า

"ITs have reformulated our perception of space and time, so that we experience a loss of spatial boundaries or distinctions [between private and public space], so that all spaces begin to like alike and explode into a continuum."

กล่าวคืออุปกรณ์ IT ทั้งหลายนั้นทะลุทะลวงทำลายเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ ภายในบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวก็ถูกทำให้เชื่อมต่อกับสาธารณะผ่าน internet TV และเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ เดี่ยวนี้การทำงานที่บ้านโดยแทบจะไม่ต้องเข้า office เลยนั้นกลายเป็นเรื่องปกติของหลายอาชีพ ดังนั้นเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่บ้านกับสำนักงาน (พื้นที่สาธารณะ) จึงเลือนรางขึ้น เช่นเดียวกันในร้านกาแฟและร้านซูชิที่ชินจูกุ หรือในขบวนรถไฟที่แน่นขนัด เมื่อสังเกตไปรอบๆ ตัว ผมพบว่าหลากหลายผู้คนทั้งด้านอายุ เพศ อาชีพ และอื่นๆ นั้น มีพฤติกรรมร่วมๆ กันอย่างหนึ่งคือการใช้อุปกรณ์ IT ในการขีดเส้นแบ่ง สร้างพื้นที่ส่วนบุคคลขึ้นภายใต้พื้นที่สาธารณะนั้นๆ ที่พบง่ายที่สุดคือการเสียบหูฟังไว้ในรูหู การเล่นเกมและการส่งข้อความผ่านมือถือ (ที่นี่มีกฎห้ามคุยโทรศัพท์ ในระหว่างการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ) ในร้านกาแฟร้านนั้น ลูกค้าส่วนมากมาคนเดียว (รวมทั้งผมด้วย) และสร้าง "อาณาจักร" ส่วนตัวขึ้นผ่านเครื่องมือเหล่านี้ คนเหล่านี้ไม่ต้องพูดคุยกับใครเลยเป็นชั่วโมงๆ นอกจากการสั่งกาแฟจาก บริกร ภายในร้านที่แน่นขนัด

ไม่แปลกอีกเช่นกันที่การจัดการกับเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ส่วนตัว/สาธารณะของโตเกียว จะปรากฏขึ้นในรูปแบบที่สุดโต่งแบบหนึ่ง สิ่งนี้เป็นที่รู้จักในภาษาอังกฤษว่า "love hotel" ซึ่งคิดค่าบริการราย 2 ชั่วโมง หลายๆ แห่งการให้บริการเป็นแบบอัตโนมัติทั้งหมด ตั้งแต่การจ่ายเงิน รับกุญแจ ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเห็นหน้าพนักงาน หรือถูกพนักงานเห็นหน้าตาแต่อย่างใด เพื่อป้องกันการสูญเสียความเป็นส่วนตัวอย่างสุดยอด

คงไม่ต้องบอกนะครับว่า คนญี่ปุ่นใช้ love hotel เมื่อไร หรือในโอกาสแบบไหน และขอยืนยันโดยเฉพาะต่อเพื่อนฝูง ที่เผอิญมาอ่านบทความนี้ ว่าผมยังไม่ "โชคดี" มีประสบการณ์ตรงในการใช้บริการแบบนี้ เรื่องนี้ผมอ่านจาก guide book ครับ


ที่มา : http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007may14p1.htm